งานเสวนาวิชาการนานาชาติและ APEC Media Focus Group ครั้งที่ ๕

งานเสวนาวิชาการนานาชาติและ APEC Media Focus Group ครั้งที่ ๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 ก.ค. 2565

| 1,068 view

เมื่อ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม International Academic Forum และ APEC Media Focus Group ครั้งที่ ๕ ภายใต้แนวคิด “APEC and Business Sustainability” ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา โดยมีผู้แทนส่วนราชการ คณะทูตานุทูต สื่อมวลชน และภาคเอกชน เข้าร่วมทั้งด้วยตนเองและแบบออนไลน์กว่า ๑๓๐ คน

การเสวนาเริ่มด้วยสุนทรพจน์ของศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับบทบาทของมหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของไทยที่มีส่วนช่วยบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ของสถาบันในทุกระดับ อันช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ โดยนายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคประจำปี ๒๕๖๕  (APEC SOM Chair 2022) เน้นย้ำในปาฐกถาพิเศษ ประโยชน์ของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมทุกภาคส่วน มาสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-๑๙ ในระยะยาว

งานเสวนาช่วงแรกภายใต้หัวข้อ “BCG Economy in Thailand and Business Sustainability” มีนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้เริ่มขึ้นโดย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกำกับและดูแลเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวถึงโอกาสการเจริญเติบโตทางธุรกิจในภาคส่วน อาทิ เกษตรกรรม การแพทย์ และเคมีภัณฑ์ โดย ศ. นพ. ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงการบูรณาการโมเดล BCG ในด้านสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งรวมถึงโทรเวชกรรม และแนะนำโครงการ Nan Sandbox ที่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มจากพืชในจังหวัดน่านไปสู่ส่วนประกอบที่สำคัญของยารักษาโรค

การเสวนาในช่วงแรกดำเนินต่อเนื่องด้วยการเล่าถึงความพยายามของเอเปคในประเด็นความยั่งยืนโดยนางสาวปฤนัต อภิรัตน์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และบทบาทของไทย ซึ่งพบว่าประเด็นที่ได้รับการสนับสนุนทั้งภมยในประเทศและจากเขตเศรษกิจของเอเปค นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อความยั่งยืน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด เล่าถึงคำมั่นประกาศของบริษัท ในเรื่องการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ๒๕๙๓ และความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ๒๕๗๓

งานเสวนาในช่วงที่ ๒ ภายใต้หัวข้อ “Sufficiency Economy and Innovation for Sustainable Future” รศ. ดร. นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินรายการ โดยนางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เล่าถึงการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบริหารจัดการสภาพแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันดินพังทลาย รศ. ดร. วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการปลูกฝังแนวคิดในเรื่องความยั่งยืนในนักเรียน ส่วน รศ. ดร. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวถึงการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ส่งเสริมนวัตกรรมในเทคโนโลยีที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนพิการ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ