วันที่นำเข้าข้อมูล 9 มิ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,200 view

AW_วัฒนธรรมองค์กรกรมสารนิเทศ_Poster-01

วัฒนธรรมองค์กรของกรมสารนิเทศ ตั้งอยู่บนหลักการ 4Cs + 2 gaps ได้แก่

📌Continue (สานต่อ) เน้นการสานต่อภารกิจหลักด้านการสื่อสารและการทูตสาธารณะ รวมถึงบทบาทและภารกิจที่กรมดำเนินการอยู่แล้วให้มีความต่อเนื่องและสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น  การต่างประเทศ (5S/ ๕ มี) เช่น การสื่อสารและประชาสัมพันธ์บทบาท/ภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศไทย   การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขับเคลื่อนการต่างประเทศผ่านมูลนิธิยุวทูตความดีและวิทยุ     สราญรมย์ การลงทะเบียนผู้สื่อข่าวต่างประเทศผ่านระบบ MMOS การเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์และเครือข่ายกับสื่อมวลชน การให้ข้อมูลข่าวสารด้านการต่างประเทศผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นความถูกต้องแม่นยำของ    การสื่อสารและความน่าเชื่อถือขององค์กร 

📌Celebrate (ส่งเสริม) มุ่งเน้นการดำเนินงานเชิงรุกผ่านการทูตวัฒนธรรมและการทูตสาธารณะเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และความนิยมไทยในทุกมิติ การขับเคลื่อนอำนาจละมุน (soft power) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำเสนออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทย อาทิ กีฬา อาหาร ศิลปะ วัฒนธรรม และค่านิยมอันดีงามของสังคมไทย ตลอดจนนำเสนอศักยภาพของไทยทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการเป็นศูนย์กลางของความเชื่อมโยงในภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนรางวัลการทูตสาธารณะ

📌Create (สร้างสรรค์) เน้นการสื่อสารเชิงรุกโดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล และความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการรับรู้และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานด้าน  การต่างประเทศ อาทิ รายการ Spokesman Live!!! การจัดกิจกรรม APEC Media Focus Group การเสริมสร้างพันธมิตรด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์กับสื่อมวลชนทุกแขนงรวมทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี นอกจากนี้ ยังใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เพิ่มช่องทางการสื่อสาร รับฟังความคิดเห็นกับประชาชนทุกกลุ่มผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ ๆ และเครื่องมือ อาทิ Chat Bot TikTok Blockdit และ Podcast

📌Circular (ใส่ใจ) รณรงค์และสนับสนุนให้บุคลากรทุกระดับให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการสร้างจิตสำนึกที่ใส่ใจและห่วงใยสิ่งแวดล้อมโดยลดการใช้ทรัพยากรในการปฏิบัติงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน เน้นการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลัก 3Rs คือ Reduce Reuse Recycle รวมถึงการสร้างสุขภาวะและสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน (wellness culture) รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรผ่านการกำหนดคำขวัญผ่านการสัมมนาด้วยวิธี Whole Department Approach (สื่อสารการทูตไทย เชื่อมไทยสู่สากล)

นอกจากนี้ เป้าหมายในการทำงานของกรมสารนิเทศยังมุ่งเน้นช่วยลด ๒ ช่องว่างหลัก คือ 

(๑) ช่องว่างความเหลื่อมล้ำ (Inequality Gap) เป็นประเด็นปัญหาที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจและการพัฒนาของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ ซึ่งความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือ โอกาสในการเข้าถึงบริการภาครัฐ เทคโนโลยี การศึกษา และข้อมูลข่าวสาร กรมสารนิเทศจึงมุ่งหวังที่จะเป็นสะพานเชื่อมไทยสู่โลก เชื่อมโลกสู่ไทย เพื่อเปิดทาง/สร้างโอกาสในการเรียนรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม start-ups เกษตรกร แรงงาน รวมทั้งกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส

(๒) ช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) โดยตระหนักว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นได้ในทุกหน่วยของสังคม  และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว และโดยที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย กรมสารนิเทศจึงมุ่งทำหน้าที่เป็นองค์กรที่นำเสนอสื่อที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ ครอบคลุม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านการพัฒนาเครื่องมือและช่องทางใหม่ ๆ เช่น Chat Bot Instagram TikTok Blockdit และ MFA Thailand Channelเพื่อการสื่อสารกับคนทุกรุ่น ทุกกลุ่ม และให้ความสำคัญกับการผลิตเนื้อหาที่เสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่าง คนทุกหมู่เหล่าในสังคม ตลอดจนส่งเสริมความเคารพและการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์  อัตลักษณ์ วิถีชีวิต แนวคิดและค่านิยม