ไทยแบ่งปันบทเรียนจากการรับมือโควิด-๑๙ ในการประชุมเรื่อง โรคระบาดและเศรษฐกิจ ณ กรุงเฮลซิงกิ

ไทยแบ่งปันบทเรียนจากการรับมือโควิด-๑๙ ในการประชุมเรื่อง โรคระบาดและเศรษฐกิจ ณ กรุงเฮลซิงกิ

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 มิ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 13 มิ.ย. 2566

| 1,053 view

นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูง เรื่อง “โรคระบาดและเศรษฐกิจ ปี ๒๕๖๖: สังคมที่ทนทานต่อโรคระบาด” (“Pandemic & the Economy 2023: A Pandemic-Resilient Society”) เมื่อวันที่ ๖ – ๗ มิถุนายน ๒๕๖๖ ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ตามคำเชิญของมูลนิธิเอเชียยุโรป สถาบันฟินแลนด์ด้านสุขภาพและสวัสดิการ และกระทรวงกิจการสังคมและสวัสดิการฟินแลนด์ การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการหารือระหว่างภาคสาธารณสุขกับภาคส่วนอื่น ๆ ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-๑๙ โดยเน้นเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากการรับมือกับโรคระบาด ไปสู่การสร้างสังคมที่มีความทนทานต่อโรคระบาด และคำนึงถึงความแตกต่างด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมในแต่ละประเทศ ซึ่งทำให้ไม่สามารถมีนโยบาย หรือยุทธศาสตร์เดียวกันได้ แต่สามารถกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติทั่วไปเพื่อให้พันธมิตรของการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia–Europe Meeting: ASEM) พิจารณานำไปปรับใช้ในอนาคตได้         

ในโอกาสนี้ รองอธิบดีกรมสารนิเทศแบ่งปันประสบการณ์ของไทย ในฐานะโฆษกภาคภาษาอังกฤษของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (ศบค.)  ในสามส่วนที่สรุปได้ว่าเป็นบทเรียนของไทย ได้แก่ (๑) การจัดตั้ง ศบค. เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์และสื่อสารกับสาธารณชนแบบรวมศูนย์ (๒) การรักษาความสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุขกับการอำนวยความสะดวกให้แก่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ (๓) การเสริมสร้างฐานข้อมูลเรื่องโควิด-๑๙ (เกี่ยวกับมาตรการเข้า/ออกประเทศ และการรับรองเอกสารประกอบการเดินทาง) เช่น ในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) เมื่อปี ๒๕๖๕

การเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเป็นโอกาสอันดีในการรับฟังประสบการณ์ของประเทศอื่น ๆ เช่น ประสบการณ์ในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในหน่วยงานของรัฐที่บริหารจัดการสถานการณ์ และความร่วมมือกับสื่อมวลชนในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และทันต่อสถานการณ์ ในการรับมือกับโรคระบาด และนำองค์ความรู้ รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดี เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหากสามารถนำมาปรับใช้กับไทยได้ก็จะเสริมสร้างความพร้อมของไทยต่อโรคระบาดในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาส

ในการรับฟังมุมมองของฝ่ายต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในการกำหนดนโยบายที่รักษาสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านสาธารณสุขกับการเจริญเติบโตเศรษฐกิจให้มากที่สุด และสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับโรคระบาดในอนาคต

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ