กรมสารนิเทศจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะและพัฒนาตนเอง “เขียนอย่างไรให้ถูกใจผู้รับสาร”

กรมสารนิเทศจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะและพัฒนาตนเอง “เขียนอย่างไรให้ถูกใจผู้รับสาร”

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ม.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 ม.ค. 2567

| 697 view

เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๗ กรมสารนิเทศได้จัดการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เขียนอย่างไรให้ถูกใจผู้รับสาร” โดยนายโกศล สถิตธรรมจิตร อัครราชทูต ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ปฏิบัติราชการทางกรมสารนิเทศ ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศที่สนใจร่วมรับฟังกว่า ๕๐ คน

ในโอกาสนี้ นายโกศลฯ ได้แนะนำเทคนิคการเขียน “บันได ๗ ขั้น” ซึ่งประมวลขึ้นจากประสบการณ์การทำงานในช่วงกว่า ๒๕ ปีที่ผ่านมา ทั้งในฐานะผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่การทูตที่ในตำแหน่งต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารที่หลากหลาย อาทิ รายงานผลการดำเนินงานประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศ บทความต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ชั้นนำ และบทความวิชาการในวารสารสราญรมย์

“บันได ๗ ขั้นสู่งานเขียนที่ดี” ประกอบด้วยขั้นที่หนึ่ง ให้พิจารณาว่าใครเป็นผู้รับสารหลัก เพราะเป็นปัจจัยตัดสินว่าจะเขียนงานชิ้นนั้นเช่นไร ขั้นที่สอง เริ่มเขียนเฉพาะเมื่อรู้ว่าจะเขียนให้ “จบ” ได้อย่างไร ขั้นที่สาม ตี “โจทย์” ของงานเขียนชิ้นนั้นให้แตก กล่าวคือให้ตอบทุกโจทย์ ทุกประเด็น ขั้นที่สี่ หาข้อมูลให้พร้อมก่อนเริ่มเขียน โดยควรจด “คำสำคัญ” ของเรื่องที่อ่านไว้ด้วย ขั้นที่ห้า “ออกแบบงานเขียน” ผ่านตาราง 3 ช่อง/3S: Selected (key) words (คำสำคัญของเรื่องนั้นๆ) Skeleton (วางเค้าโครงการเขียน โดยนำคำสำคัญที่จดไว้มาวางในโครงข้อนั้นๆ และ Sketch (การจินตนาการว่าถ้าเขียนตามเค้าโครงที่วางไว้จะเขียนอย่างไร) ขั้นที่หก เริ่มเขียนตามที่ออกแบบไว้ และขั้นที่เจ็ด อ่านทวน ๓ ครั้งเป็นอย่างน้อย

การบรรยายพิเศษข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งกิจกรรมเสริมสร้างทักษะและพัฒนาตนเองที่กรมสารนิเทศให้ความสำคัญ และจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ