ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ และพัฒนาการสำคัญในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย

ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ และพัฒนาการสำคัญในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ค. 2565

| 871 view

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ เสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ที่โรงแรมแชงกรี-ลา  กรุงเทพ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งแบบกายภาพและทางไกล มากกว่า ๑,๒๐๐ คน จาก ๒๑ เขตเศรษฐกิจ โดยตลอดระยะเวลา ๑๑ วัน ที่ประชุมได้สานต่อการขับเคลื่อนหัวข้อหลักการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย คือ “เปิดกว้าง
สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” โดยมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙ เพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และหาแนวทางรับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจระลอกใหม่ที่สั่นคลอนความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และห่วงโซ่อุปทานของโลกไปพร้อมกัน โดยมีผลลัพธ์สำคัญ ดังนี้

(๑) เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ ไทยตั้งเป้าหมายนำประเด็นความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) มาหารือใหม่ในบริบทยุคหลังโควิด-๑๙ โดยจะให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืน และพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ ๆ โดยที่ประชุมฯ เห็นพ้องให้เอเปคจัดทำแผนงานเพื่อสานต่อการหารือเรื่อง FTAAP อย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมของสมาชิกเอเปคเพื่อเข้าร่วมความตกลงฯ ในอนาคต โดยจะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค

มอบหมายให้คณะทำงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานขับเคลื่อนที่ต่อเนื่องหลายปีต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันรับรองแนวทางป้องกันการค้าสินค้าโควิด-๑๙ ที่ผิดกฎหมาย และอำนวยความสะดวกบริการด้านโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งวัคซีนและเวชภัณฑ์ในเอเปคอีกด้วย

(๒) เชื่อมโยงในทุกมิติ ไทยมีเป้าหมายฟื้นฟูการเดินทางในเอเปคอย่างสะดวกและปลอดภัยซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว โดยในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องให้เอเปคดำเนินการตามข้อเสนอของไทย ๒ โครงการ คือ (๑) การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเทคนิคของใบรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างกันเพื่อให้การตรวจสอบเอกสารประกอบ 
การเดินทางข้ามพรมแดนรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ (๒) การจัดทำระบบฐานข้อมูลเอเปคเพื่อรวบรวมระเบียบการเดินทางข้ามพรมแดนซึ่งจะช่วยให้ผู้เดินทางตรวจสอบข้อมูลได้โดยสะดวก โดยตั้งเป้าดำเนินโครงการ        ทั้งสองให้เกิดผลสำเร็จภายในไตรมาสที่สามของปีนี้ นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องให้ดำเนินโครงการของออสเตรเลียเพื่อจัดทำหลักการร่วมกันเพื่อนำไปสู่การยอมรับใบรับรองการฉีดวัคซีนในภูมิภาคตามความสมัครใจ ซึ่งจะช่วยให้เอเปค รับมือกับสถานการณ์รูปแบบนี้ในอนาคตได้อย่างเข้มแข็ง พร้อมทั้งหารือเรื่องการขยายกลุ่มผู้ใช้บัตรเดินทางนักธุรกิจ
เอเปคตามที่ไทยเสนอ โดยจะปรับจากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการ MSMEs และผู้บริหารระดับกลางด้วย

(๓) สร้างสมดุลในทุกด้าน ไทยตั้งเป้าหมายนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานของหัวข้อหลักและประเด็นสำคัญในการเป็นเจ้าภาพ มาเร่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในเอเปคอย่างเป็นระบบและบูรณาการกับแผนงานเดิม โดยได้เสนอจัดทำเอกสารระดับผู้นำภายใต้ชื่อ “เป้าหมายกรุงเทพเรื่องเศรษฐกิจ BCG” เพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางการขับเคลื่อนความยั่งยืนในภูมิภาค โดยมีการหารือวาระเฉพาะกิจเป็นครั้งแรกในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงร่างเอกสารที่ไทยได้ยกร่าง ให้แล้วเสร็จเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเอเปคให้การรับรองในเดือนพฤศจิกายนศกนี้ ต่อไป

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๒ เป็นก้าวสำคัญที่ไทยได้ขับเคลื่อนการเป็นเจ้าภาพมาครึ่งทางแล้ว อีกครึ่งปีที่เหลือไทยจะยังคงเดินหน้าสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมตามแผน เพื่อสร้างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุล ให้คนไทยและทุกคนในภูมิภาคต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ